เศรษฐกิจไทย กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง หากไม่พึ่งเทคโนโลยี ชี้กลุ่ม F-A-T-E มีโอกาสต่อยอดได้ง่าย

KKP Research กลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ “เศรษฐกิจไทย กลับไม่ได้ไปไม่ถึง หากไม่พึ่งเทคโนโลยี” โดยมองว่า บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (Old Economy) ที่อาศัยอำนาจตลาดเป็นจุดแข็งและยังมีสัดส่วนบริษัทที่เกี่ยวเนื่อง

กับเทคโนโลยีและสารสนเทศไม่ถึง 3% ของมูลค่าตลาด จึงฟื้นตัวหลังโควิดช้ากว่าตลาดต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน

3 อุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย คือ การขาด (1) Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านความรู้และบุคลากร (2) Investment หรือการลงทุน และ (3) Incentives หรือระบบแรงจูงใจตามกลไกตลาด
หนึ่งในทางออกเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย คือ การลดอำนาจตลาดหรือทลายอำนาจผูกขาดของผู้เล่นรายใหญ่ และผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมในวงกว้าง
ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้าเพราะไม่มี FAANG
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทรมองว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลงในหลายประเทศ แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด สวนทางกับในหลายประเทศที่แม้จะยังเผชิญกับสถานการณ์โควิดที่รุนแรงกว่าไทย แต่ตลาดหุ้นกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีในระดับสูง ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวัน ล้วนกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่า (รูปที่ 1)
ความแตกต่างในการฟื้นตัวนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยที่ยังคงขาดบริษัทชั้นนำที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี โดยบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยอาจกล่าวได้ว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (Old economy) หรือมีอำนาจตลาดสูงในการดำเนินธุรกิจ (รูปที่ 2) เปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 5 แห่ง หรือที่เรียกว่า FAANG
อันประกอบด้วย Facebook, Amazon, Apple, Netflix และ Google (หรือ Alphabet ในปัจจุบัน) เป็นแกนกลาง ทั้งนี้ สัดส่วนของบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ (Tech stock) มีมูลค่าอยู่ที่เพียง 3% ของทั้งตลาด ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะไต้หวันที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 50% ของตลาดหุ้น (รูปที่ 3)
ไทยกำลังถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ระดับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภาคการผลิตของไทยในภาพรวมแทบไม่มีการพัฒนาเลยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และไทยยังคงผลิตสินค้าแบบเดิมที่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนจากการฟื้นตัวของการส่งออกหลังโควิด ที่สินค้าเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมทั้งเวียดนาม เริ่มเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่การส่งออกของไทยยังคงหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
ความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกไทยลดลงอย่างชัดเจน โดยอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับเลข 2 หลัก ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 5% ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตโดยเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปีตลอดช่วง 2 ทศวรรษ ที่สำคัญคือ สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech manufacturing products) ของไทยยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ราว 23% และถูกเวียดนามแซงหน้าไปแล้วตั้งแต่ปี 2012 โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 40% ของการส่งออกทั้งหมด (รูปที่ 4)
นอกจากนี้ หากมองในแง่ความพร้อมในการพัฒนานวัตกรรม ข้อมูลจาก World Intellectual Property Organization (WIPO) ชี้ให้เห็นว่าไทยอยู่ในตำแหน่งเกือบรั้งท้ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยระดับคะแนนรวมของไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดอันดับของไทยตกลงมาเป็นที่ 10 ในภูมิภาค โดยมีเวียดนามแซงหน้าขึ้นมา (ตารางที่ 1) ตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าขณะที่ไทยยังคงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปอย่างช้า ๆ แต่ประเทศอื่น ๆ กำลังเร่งพัฒนาก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญและแซงหน้าของไทยไปแล้ว
ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมยังไม่เกิดขึ้นในไทย
ที่ผ่านมาแนวคิดของภาครัฐได้เน้นย้ำและตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม แต่ไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนเท่าที่ควร ล่าสุดนโยบาย “Thailand 4.0” ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2015 โดยนำเอาโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 มาปรับใช้เพื่อยกระดับการผลิตและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของไทย ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรม S-Curve เดิมที่มีศักยภาพ (ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร) และสร้าง S-Curve ใหม่ (หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร) ซึ่งถึงแม้จะผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว แต่แผนการและขั้นตอนดำเนินงานยังไม่ชัดเจนและยังไม่มีประสิทธิผล
ส่วนหนึ่งจากการที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังขาดปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะเร่งให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
KKP Research มองว่าเศรษฐกิจไทยยังขาด 3 ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการยกระดับทางเทคโนโลยี ได้แก่
(1) Infrastructure: ไทยยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะในด้านการศึกษาและบุคลากร การขาดแคลนทุนมนุษย์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของไทย ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมถึงแรงงานด้าน IT (Information Technology) จำนวนนักวิจัยของไทยมีเพียง 1,141 คนต่อประชากรล้านคน ขณะที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้มีจำนวนนักวิจัยสูงถึง 6,915 และ 7,394 ต่อประชากรล้านคน ตามลำดับ สูงกว่าไทยถึงกว่า 6 เท่าตัว (ตารางที่ 2)
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาไทยยังผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีได้น้อย โดยตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จำนวนผู้จบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศลดลงเฉลี่ย 1.4% ต่อปี ทำให้ในช่วงปี 2015-2019 ไทยมีสัดส่วนของผู้ที่จบการศึกษาในสาขาดังกล่าวต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
การขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของไทยอยู่ในระดับต่ำ จากข้อมูล World Digital Competitiveness ปี 2020 ของ IMD พบว่าระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยยังรั้งอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศทั่วโลก และแทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า แม้คะแนนในด้านภาพรวมเทคโนโลยีของไทยมีลำดับที่สูงขึ้น แต่ในด้านองค์ความรู้ โดยเฉพาะการเรียนการสอน ไทยอยู่ในอันดับท้าย ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนรวม PISA ด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยที่ต่ำลง สะท้อนถึงระบบการศึกษาไทยที่ยังไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับโลกแห่งอนาคตอย่างเพียงพอ และชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งใน soft infrastructure ที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย
(2) Investment: ไทยขาดทั้งการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่จะช่วยต่อยอดทางเทคโนโลยี ประเทศไทยมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา และมีบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีระดับรายได้ต่อประชากรใกล้เคียงกัน ในช่วงปี 2015-2019 ไทยมีเม็ดเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.8% ของ GDP ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย (ตารางที่ 2) และหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ที่มีการลงทุนกว่า 4.5% ของ GDP ถือว่าไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D ต่ำกว่าถึง 5 เท่า ขณะที่ประสิทธิภาพของการผลิตนวัตกรรมยิ่งต่ำกว่า เมื่อวัดจากจำนวนการจดสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากร ไทยสามารถผลิตได้เพียง 35 สิทธิบัตรต่อประชากรล้านคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (171 สิทธิบัตรต่อประชากรล้านคน) ถึงกว่า 5 เท่า ขณะที่มาเลเซียมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรสูงถึง 126 ต่อประชากรล้านคน สูงกว่าไทยหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ FDI ในระยะหลังยังไม่เอื้อต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี หลายปีที่ผ่านมาเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้ามายังประเทศไทยมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน (ดู KKP Research, “ทำไมต่างชาติขายหุ้นไทย (ไม่หยุด)”) และส่วนใหญ่ยังเข้ามาสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น (รูปที่ 5)
ในขณะที่ทศวรรษก่อนหน้า ไทยได้รับเลือกเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทชั้นนำของโลก และได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาสู่ภาคการผลิตจำนวนมากซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลิตภาพ แต่ไทยก็พลาดโอกาสในการเรียนรู้และต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อสุดท้ายแล้วสามารถสร้างนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง จากความไม่พร้อมด้านบุคลากรและการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา
(3) Incentives: โครงสร้างผลตอบแทนและแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้ให้เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในวงกว้าง จากปัจจัยทั้งหมด KKP Research มองว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาระดับเทคโนโลยีของไทยมาจากระบบผลตอบแทนที่ไม่เอื้อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ซึ่งโดยธรรมชาติต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและมีอัตราการล้มเหลว (failure rate) สูง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการสะสมและปกป้องอำนาจตลาด (Market power) ที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในบริบทของไทย
งานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมมีผู้เล่นน้อยราย มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (barrier to entry) สูง และมีการกระจุกตัวของผลกำไรสูง สอดคล้องกับการจัดอันดับด้านระดับการแข่งขันของตลาดในประเทศ (รูปที่ 6) ซึ่งไทยมีลำดับที่แย่ลงเรื่อย ๆ จากอันดับที่ 58 เป็น 65 ในช่วงปี 2017-2019 งานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการมีอำนาจตลาดสูงเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากบริษัทใหญ่ที่มีรายรับและกำไรสูงจากอำนาจตลาด จะไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนานวัตกรรม จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกแสวงหาและรักษาอำนาจตลาดผ่านกลไกและเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกตลาด มากกว่าลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม
ความอ่อนแอในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property rights) และกฎระเบียบที่ยุ่งยากสำหรับการตั้งธุรกิจ Startup ในไทยยิ่งเพิ่มต้นทุนของการวิจัยและพัฒนาในประเทศ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานับเป็นจุดอ่อนที่สุดในด้านกฎหมายทางธุรกิจของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกฎระเบียบด้านอื่น ขณะที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (รูปที่ 7) สะท้อนต้นทุนที่มองไม่เห็นของการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ผลลัพธ์ที่ได้อาจถูกนำไปลอกเลียนโดยคู่แข่งและทำให้ผลกำไรที่พึงคาดหวังลดลง
นอกจากนี้ บทบาทของธุรกิจ Startup ที่มีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั่วโลก กลับพบข้อจำกัดด้านกฎระเบียบทางธุรกิจของไทยอยู่มาก ทั้งในแง่ (1) การตีกรอบภาคธุรกิจที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้อยู่ในวงจำกัด (2) ความยุ่งยากในการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศทั้งในด้านรูปแบบวีซ่าและจำนวนที่อาจจ้างได้ และ (3) ความเสียเปรียบด้านภาระภาษีของธุรกิจ Startup ที่จดทะเบียนในไทย โดยเฉพาะภาษีจากการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) ส่งผลให้ไทยยังไม่มีระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เหมาะสมต่อธุรกิจ Startup และไทยยังมีจำนวนธุรกิจ Startup ค่อนข้างน้อย ขณะที่มีเม็ดเงินลงทุนด้าน Startup เป็นลำดับท้ายของอาเซียน โดยมีเงินลงทุนจาก VC (Venture Capital funding) เพียง 1.3 แสนล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังไม่มี Unicorn หรือ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แม้แต่บริษัทเดียว (รูปที่ 8) ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่มุ่งหวังให้ไทยติด 1 ใน 20 ของ Startup Nations
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดหล่มหากไม่ปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
3 ความเสี่ยงที่ไทยจะประสบหากไม่เร่งพัฒนาความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี คือ
(1) ธุรกิจเดิมที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองจะล้มหายตายจากไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าตลาด (รูปที่ 9) ซึ่งอาจสะท้อนได้ถึงความเสี่ยงจากเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมหากภาคธุรกิจเดิมไม่ปรับตัว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้ดีกว่า หรือสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มใหญ่ได้กว้างกว่าและลึกกว่าผ่านความเร็วในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ (business landscape) ในหลายธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไปโดยสิ้นเชิง และทำให้ผู้เล่นหลักเดิมทยอยปิดตัวลง (disruption) ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ (1) การเข้ามาของโมเดิร์นเทรด (modern trade) ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก แทนที่ร้านค้าแบบดั้งเดิม (mom-and-pop stores) ซึ่งต่อไปกำลังจะถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมการค้าขายออนไลน์ (E-commerce)
(2) ธุรกิจสื่อดั้งเดิม (traditional media) เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อโฆษณา กำลังถูกแทนที่ด้วยสื่อสังคมออนไลน์หรือ Social media ที่มีความรวดเร็ว ตรงความต้องการ และข่าวสามารถส่งตรงถึงผู้รับข่าวโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง
และ (3) ธุรกิจธนาคาร ที่เคยเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรได้ดีทั้งจากรายได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และรายได้จากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ถูกท้าทายทั้งจากทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทขนาดใหญ่ในการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์และการออกหุ้นกู้ รวมถึงภูมิทัศน์ทางการแข่งขันและการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ขจัดค่าธรรมเนียมระหว่างธนาคาร ส่งผลให้ธุรกิจธนาคารมีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น และต้องเร่งลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนรูปแบบธุรกรรมที่เปลี่ยนไป
การปฏิวัติยานยนต์ไฟฟ้า (EV Revolution) และเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform economy) จะเปลี่ยนเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคบริการของไทยอย่างมหาศาล KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่า แนวโน้มการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (Electric Vehicle: EV) ที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก และหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนกว่า 30% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2030 (รูปที่ 10) จะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ปัจจุบันผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) และกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายเป็นการส่งออก การทยอยปรับสายการผลิตไปเพื่อผลิตอีวีจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการคงอยู่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และในอนาคตจะกระทบกับหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำ ทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน และโทรคมนาคม รวมถึงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกิจภาคบริการ เช่นธุรกิจจัดจำหน่ายหรือการซ่อมและบำรุงรักษาอย่างมาก
ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มกำลังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และมีสถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่ง ทำให้ E-Commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดด และสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกันกับแพลตฟอร์มการเรียกรถรับจ้าง การสั่งซื้อและส่งอาหาร ห้องพัก การให้สินเชื่อ หรือแม้แต่การหาคู่ ที่จะปฏิวัติรูปแบบของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอัลกอริทึมหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ส่งผลให้ผู้ประกอบการเดิมในภาคบริการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
(2) เศรษฐกิจไทยจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้น้อยลง และความเสี่ยงการย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ด้านค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะประชากรวัยทำงานที่หดตัว และยังสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้กับประเทศอื่นในอาเซียนที่มีค่าแรงต่ำกว่า จะเห็นได้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ค่าแรงของไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในอาเซียน รองแค่สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และสูงเป็นเกือบสองเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำของเวียดนาม (รูปที่ 11) ที่ประชากรวัยแรงงานกำลังขยายตัว ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปได้มากขึ้น
เวียดนามกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของ FDI ที่จะย้ายเข้ามาในอาเซียนแทนที่ไทย จากสิทธิประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรีและฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การช่วงชิงอำนาจนำบนเวทีโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีน นำมาซึ่งสงครามการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน และส่งผลให้บริษัทข้ามชาติหลายรายที่มีจีนเป็นฐานการผลิตเดิม จำเป็นต้องมองหาฐานการผลิตเพื่อส่งออกใหม่เพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว กลุ่มประเทศในอาเซียนที่มีห่วงโซ่การผลิตและตลาดผูกพันกับทั้งจีนและสหรัฐฯ จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของ FDI โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป (EVFTA) หรือแม้แต่ในอนาคตจาก CPTPP ที่เวียดนามเข้าร่วม ซึ่งคิดเป็นขนาดเศรษฐกิจรวมกว่า 13% ของ GDP โลก
ขณะที่ไทยยังไม่มีความตกลงทางการค้ากับตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยังไม่คลี่คลายดีนักแต่มูลค่าส่งออกของเวียดนามฟื้นตัวกลับมาได้รวดเร็วกว่าไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญที่ยังขยายตัวได้และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตทางพัฒนาการทางเทคโนโลยี สวนทางกับไทยที่มีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนต่ำกว่า ตั้งแต่ปี 2012 มูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวสูงกว่าไทย และปัจจุบันสูงกว่าไทยถึง 3 เท่า (รูปที่ 12)
ความเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านยังสะท้อนได้จากผลสำรวจของ JETRO ล่าสุดที่บ่งบอกว่าไทยไม่เนื้อหอมในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่นอีกต่อไป
เนื่องจากสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาเป็นปัจจัยแรกในการเลือกประเทศที่จะไปลงทุน ก็คือสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานทางด้าน IT ที่บริษัทญี่ปุ่นมองว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความสามารถในการเติบโตให้กับธุรกิจผ่านเทคโนโลยี ในปี 2019 จะเห็นว่าแรงจูงใจของนักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะขยายการลงทุนในไทยต่ำกว่าเวียดนาม ขณะที่เวียดนามน่าดึงดูดกว่าไทยในภาคบริการมาตั้งแต่ปี 2017 (รูปที่ 13)
(3) ไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจำนวนประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลงแล้วนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสินค้าส่งออกของไทยเริ่มไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ภายใต้โครงสร้างการผลิตแบบเดิม ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ไปอีกนาน
ถึงแม้จะอยู่ในระดับนี้มาแล้วเป็นเวลาเกือบ 30 ปี คือไม่สามารถยกระดับรายได้ต่อหัวของประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วได้ หากไม่มีการเร่งลงทุนเพื่อยกระดับทางเทคโนโลยีหรือเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก วิถีทางเดียวที่ไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางคือการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมผ่านการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น เช่น เพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างเกาหลีใต้ จีน หรือสิงคโปร์ ที่ล้วนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่า 2% ของขนาดเศรษฐกิจ สูงกว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยที่มีอยู่ต่ำกว่าเพียง 1% ของ GDP เท่านั้น (รูปที่ 14)
เริ่มต้นนับหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าไทยต้องเริ่มต้นนับหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการลดกฎระเบียบ เปิดเสรี และทลายอำนาจผูกขาด ทั้งนี้การยกระดับเทคโนโลยีรวมถึงการสร้างนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการทลายข้อจำกัดทั้ง 3 ประการข้างต้น อันได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในด้านบุคลากร (Infrastructure) การลงทุน (Investment) และแรงจูงใจด้านผลตอบแทนทางธุรกิจ (Incentives) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปฏิรูปโครงสร้างแรงจูงใจและผลตอบแทน ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการยกระดับ R&D และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านการศึกษาและบุคลากร รวมถึงเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนตามมา
(1) ควรลดอำนาจตลาดของผู้เล่นรายใหญ่และลดกฎระเบียบให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ ผ่านการจำกัดหรือยกเลิกระบบสัมปทาน สร้างความโปร่งใสในด้านการขอใบอนุญาตและประมูลงานภาครัฐ และการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด เช่น พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรม อีกทั้งควรลดกฎระเบียบและขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นธุรกิจของผู้เล่นใหม่ ทั้งธุรกิจรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนด้านเทคโนโลยี และธุรกิจรายย่อยเช่น Startup ที่มีจุดแข็งด้านความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับทางเทคโนโลยีของเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุน “การให้โอกาสอีกครั้ง” (Second Chance) ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในยุโรป เพื่อให้ธุรกิจกล้าที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดและกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้
(2) สร้างระบบการศึกษาที่หลากหลายและมีส่วนร่วมเพื่อสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ ผ่านการเปลี่ยนแนวคิดด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานจากเดิมที่เน้นการท่องจำเพื่อวัดผล เป็นการให้นักเรียน “รู้ลึก” ในด้านทักษะที่จำเป็นต่อโลกแห่งเทคโนโลยีอันได้แก่ คณิตศาสตร์ และการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ (coding) และ “รู้รอบ” ผ่านภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และการปลูกฝังทักษะผู้ประกอบการ (entrepreneurial skills) เพื่อรองรับกระแสเทคโนโลยีและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยของไทยควรพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างบัณฑิตจบใหม่ให้มีทักษะทางวิชาชีพและความพร้อมในการทำงานกับองค์กรธุรกิจหลังการศึกษา เช่นเดียวกับในประเทศเยอรมนีที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและเอกชนในการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เยอรมนีมีอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
(3) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีในประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย ผ่านการสนับสนุนงบด้านการวิจัยและพัฒนาในสถานศึกษาและการสร้างระบบแบ่งปันผลตอบแทน (profit-sharing framework) ระหว่างภาครัฐผู้เป็นเจ้าของทุน นักวิจัย และเอกชนที่ต้องการนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอด อีกทั้งสนับสนุนการจดสิทธิบัตรของนักวิจัยไทย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และดึงดูดนักวิจัยและบริษัทที่มีจุดแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาจากต่างประเทศผ่านการสร้างห้องทดลอง (laboratories) สนับสนุนธุรกิจการจำลองแบบทางอุตสาหกรรม (prototyping) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม
ทั้งนี้ บทบาทของภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้เกิดเป็นผลสำเร็จ ตัวอย่างเช่นในจีนที่ประกาศวาระด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรมเป็นครั้งแรกในแผนพัฒนา 5 ปี (2016-2020) โดยตั้งเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ผลักดันให้เกิดการสร้างนักวิจัยและโครงสร้างที่เอื้อต่อการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
KKP Research มองว่า อุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบและสามารถลงทุนทางเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดโดยง่าย คือ F-A-T-E อันได้แก่ อาหารและบริการอาหาร (Food) เกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์จากการเกษตร (Agriculture) การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ (Tourism and wellness) การค้าออนไลน์ และอีวี (E-commerce and EV) (ตารางที่ 3) ซึ่งครอบคลุมธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ และการส่งเสริมการลงทุนทางเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้
Source: ThaiPublica

คลิก

--------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

170225DGS 5208 FX Hanuman Media Buying Banners 843150 TH    

Broker Name Regulation Max Leverage Lowest Spreads Minimum Deposit Minimal Lot Contact
221124 trive logo 100x33px

Trive

FCA, ASIC, FSC 2000:1

0.0 pips -ECN
0.5 pips - Standard

$20 0.01 lot

View Profile

Visits website

121224 ebc forex logo 100x33EBC

FCA ,ASIC, CYAMAN 1000 : 1 1.1 pips - STD
0 pips - Pro
$50 0.01 lots View Profile
Visit Website
020125 eightcap 100x33eightcap  ASIC, FCA, SCB, CySec  500 : 1
1.0 Pips -STD
0.0 Pips - Raw
1.0 Pips - TradingView
$20   0.01 lots

View Profile

Visits website

 

180225 logo fpmarkets 100x33

Fpmarkets

ASIC, CySec  500 : 1

ECN 0.0 Pips
Standard 1.0 Pips

$100 0.01 lots

View Profile

Visits website

http://forex4you.com

Forex4you

FSC of BVI 1000 : 1

0.1 pips - Cent
0.1 pips - Classic
0.1 pips - STP

$1 

0.0001 lot Cent
0.01 lot Classic
0.01 lot STP

Visit website
View Profile

Doo Prime

SEC, FINRA, FCA, ASIC, FSA, FSC 500 : 1 0.1 pips $100 0.01 lots View Profile
Visit Website

 Exness 

CySEC, FCA Unli : 1  Stand
Unli : 1 Raw   
Unli : Zero
0.3 pips – Stand
0 pips – Raw
0 pips – Zero
$1 0.01 lot  Stand
0.01 lot  Raw
0.01 lot  Zero
View Profile
Visit Website

HFMarkets

SV, CySEC, DFSA, FCA, FSCA, FSA, CMA 2000 : 1  0.0 pips $5 0.01 lot View Profile
Visit Website

GMIEDGE

 FCA, VFSC 2000:1 0.1 Pips  $2.5  0.01 lot View Profile
Visit Website

150702 icmarkets logo

IC Markets

ASIC, FSA, CYSEC 1000:1 0.0 pips -ECN
0.5 pips - Standard
$10 0.01 lot

View Profile

Visit website

BDSwiss

FSC, FSA 1000 : 1 1.5 pips - Classic
1.1 pips - VIP
0.0 pips - RAW
$10 0.01 lots View Profile
Visit Website

Pepperstone

ASIC,SCB,CYSEC,DFSA,

FCA, BaFIN, CMA,

200 : 1 1 pips - Stand
0.1 pips - Razor
1 pips - No Swap
0 Pips - Active Trade
0 0.01 lot View Profile
Visit Website

TICKMILL

FCA 500:1 1.6 pips $25 0.01 lot View Profile
Visit website
290318 atfx logoATFX FCA, CySEC 200 : 1 1.8 pips $100 0.01 lot View Profile
Visit Website
170803 roboforex logoRoboForex CySEC, IFSC 2000:1 0.4 pips $10 0.01 lot View Profile
Visit Websit

www.fxclearing.com
FXCL Markets

IFSC 500 : 1

1 pips - Micro
1 pips - Mini
0.6 pips - ECN Li
0.8 pips - ECN Inta
1 pips - ECN Sca

$1 0.01 lot View Profile
Visit website

 

AxiTrader

FCA, ASIC, FSP, DFSA 400 : 1  0.0 pips $1 0.01 lot all View Profile
Visit website

http://www.fxprimus.com

FXPRIMUS

CySEC 500 : 1 2 pips - Mini
0.8 pips - Stand
0 pips - ECN
$100 0.01 lot all View Profile
Visit Website

FXTM

CySec ,FCA,IFSC 1000 : 1

0.0 pips - ECN

0.1 pips -Stan

$1 0.01 lot View Profile
Visit Website

AETOS.COM

AETOS

FCA, ASIC, VFSC, CIMA up to 800

Genneral 1.8 pip
Advance 1.2 pip
Pro 0.0 pip

$50
$50
$20,000

0.01 lot View Profile
Visit website

EIGHTCAP

ASIC 500 : 1 0.0 pips  $100 0.01 lot

View Profile

Visit website

 

Fullerton

SFP, NZBN 200 : 1 0.5 pips - Live $200 0.01 lot View Profile
Visit Website

FxPro

CySEC, FCA
FSB, MiFID
500 : 1
Max
0.6 pips  $100 0.01 lot View Profile
Visit Website

INFINOX

 FCA, SCB 400 : 1 0.0 pips $10 0.01 lot  View Profila
Visit Website

VT markets

CIMA, ASIC 500 : 1 0.0 pips $200 0.01 lot  View Profila
Visit Website

TMGM

ASIC 500 : 1 0.0 pips $100 0.01 lot  View Profila
Visit Website

020422 zfx logo

ZFX

FCA, FSA 2000 : 1 0.0 pips

$15

0.01 lot  View Profila
Visit Website

 

ดูตารางเปรียบเทียบโบรกเกอร์ทั้งหมด คลิก

 

 

 

 

 

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"